2 มกราคม 2559
ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) นับตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา แม้ดูเหมือนว่าทั้ง 10 ประเทศจะยังไม่กระตือรือร้น เสมือนยังไม่พร้อมก็ตาม แต่ไทยในฐานะพี่ใหญ่ก็ได้เตรียมการรองรับหลายอย่าง โดยเฉพาะการคมนาคมขนส่ง ทั้งท่าอากาศยาน ถนนสายหลัก รถไฟ และรถโดยสารประจำทาง
ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา หลายคนเดินทางกลับภูมิลำเนา หรือท่องเที่ยวยังต่างจังหวัด เชื่อว่าคงได้พบกับบรรยากาศหนาแน่นของสถานีขนส่ง ทั้งที่หมอชิต และสายใต้ใหม่ รวมทั้งท่าอากาศยานดอนเมือง ที่เพิ่งเปิดใช้อาคาร 2 รองรับผู้โดยสารปลายทางในประเทศโดยเฉพาะ ก็มีผู้โดยสารเดินทางกลับบ้านเกิดอย่างคับคั่ง
แต่ที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ เดี๋ยวนี้คนที่ใช้บริการรถทัวร์เริ่มมีทางเลือกมากขึ้น เพราะมีการเปิดเส้นทางเดินรถใหม่ แบบข้ามภูมิภาคจากเหนือจรดใต้ แน่นอนว่าพี่น้องที่ทำงานทางภาคใต้จะขึ้นไปภาคเหนือหรือภาคอีสาน ไม่ต้องเสียเวลาลงรถที่สายใต้ใหม่ แล้วนั่งรถตู้หรือรถเมล์จากสายใต้ใหม่ ไปต่อรถทัวร์ที่หมอชิต กลับบ้านทางเหนือ ทางอีสานอีกต่อไป
วันก่อนนั่งรถเมล์ผ่านเคหะชุมชนธนบุรี ก็สังเกตเห็นประกาศติดอยู่ที่จุดจำหน่ายตั๋วรถทัวร์ รถรุ่งเรืองมุกดาหาร หรือ รถเมล์เหลือง จากหัวหินไปมุกดาหาร ระบุว่า ในช่วงวันที่ 29-31 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมาเต็มเกือบทุกเที่ยว แสดงให้เห็นว่าการเดินทางโดยรถเมล์ยังมีความสำคัญอยู่ แม้อาจมีคนมองว่า เดินทางโดยเครื่องบินสะดวกรวดเร็วกว่าก็ตาม
อาจมีหลายคนยังไม่ทราบว่า รถโดยสารประจำทางที่วิ่งระหว่างจังหวัดในภูมิภาค จากที่วิ่งข้ามภูมิภาค เช่น จากภาคเหนือไปภาคอีสาน หรือไกลสุดก็จากภาคเหนือ หรือภาคอีสานไปภาคตะวันออก ก็ได้ขยายมาเป็นเส้นทางลงสู่ภาคใต้ ไปยังเมืองท่องเที่ยว และเมืองพรมแดนเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านกันแล้ว มีทั้งระยะทางนับร้อย หรือบางเส้นทางนับพันกิโลเมตร
รถประจำทางสาย 877 แม่สาย - ด่านนอก เป็นรถประจำทางที่วิ่งระยะทางยาวที่สุดในประเทศไทย 1,888 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 26 ชั่วโมง 30 นาที (ขอบคุณภาพจากเว็บบอร์ด rottourthai.com)
คงมีคนสงสัยว่า เปิดเส้นทางเดินรถแบบนี้จะคุ้มเหรอ เพราะที่ผ่านมาสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์แอร์ไลน์) และรถตู้ป้ายดำแย่งผู้โดยสารรถทัวร์จนหมด แต่เอาเข้าจริงยังมีคนที่เลือกใช้บริการรถทัวร์นั่งกันยาวๆ เพราะค่าโดยสารตายตัว แตกต่างจากเครื่องบิน หากไม่นับราคาโปรโมชั่นที่แย่งกันจองข้ามปี ค่าโดยสารจะแพงมาก
ที่สำคัญ เที่ยวบินข้ามภูมิภาคนั้นยังกระจุกตัวอยู่แค่เมืองท่องเที่ยวใหญ่ๆ เช่น เชียงใหม่ อุดรธานี ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี หาดใหญ่ และอู่ตะเภา ที่บินตรงเท่านั้น หากเป็นเส้นทางอื่น ต้องเสียเวลาไปต่อเที่ยวบินใหม่ที่ดอนเมือง เสียค่าตั๋วเครื่องบินสองต่อ รวมกันแล้วแพงกว่าอีกเท่าตัว เหมาะสำหรับนักธุรกิจ ข้าราชการ หรือคนที่มีกำลังซื้อเท่านั้น
ส่วนการเดินทางด้วยรถทัวร์ แม้จะใช้เวลานานข้ามวันข้ามคืน แต่ก็มีที่จอดแวะพักยืดเส้นยืดสายอย่างน้อย 2-3 แห่ง ที่ผ่านมา บขส. เดินรถกันข้ามประเทศ และประเทศเพื่อนบ้านยังมีรถทัวร์ข้ามไปอีกประเทศด้วยซ้ำ เช่น ที่กรุงพนมเปญของกัมพูชา มีรถทัวร์ไปกรุงเทพฯ และนครโฮจิมินห์ของเวียดนาม หรือ สปป.ลาว ก็มีรถทัวร์ไปเวียดนามมากถึง 65 สาย เช่นกัน
เดิมกรมการขนส่งทางบกกำหนดประเภทรถโดยสารประจำทางไว้ 4 หมวด ได้แก่ หมวด 1 เส้นทางส่วนใหญ่อยู่ภายในเขตกรุงเทพฯ หรือในเขตเทศบาล, หมวด 2 มีจุดเริ่มต้นจากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดต่างๆ ในส่วนภูมิภาค, หมวด 3 มีจุดเริ่มต้นจากจังหวัดหนึ่ง ไปอีกจังหวัดหนึ่งในส่วนภูมิภาค และหมวด 4 เส้นทางส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดเดียวกัน
ต่อมาก็มีการเดินรถทัวร์แบบข้ามภูมิภาค เริ่มต้นที่เส้นทางระหว่างภาคเหนือกับภาคอีสาน ใช้ถนนมิตรภาพ (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 พิษณุโลก-หล่มสัก) เป็นหลัก ก่อนจะขยายไปยังภาคตะวันออก ใช้เส้นทางพิษณุโลก ผ่านวังทอง สากเหล็ก ตากฟ้า ลพบุรี สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี พนมสารคาม ฉะเชิงเทรา และ ชลบุรี
ภายหลังมีผู้ประกอบการรายหนึ่ง ใช้เส้นทางมอเตอร์เวย์ กรุงเทพฯ - ชลบุรี แยกขวาถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนตะวันออก) ไปออกทางแยกต่างระดับบางปะอิน แยกขวาเข้าถนนสายเอเชีย ผ่านอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท นครสวรรค์ มุ่งหน้าสู่ภาคเหนือแทน เรียกกันว่ารถด่วน ใช้เวลาเดินทางสั้นกว่าปกติ 3-4 ชั่วโมง
กระทั่งกรมการขนส่งทางบก เปิดเส้นทางโหดๆ แบบข้ามภูมิภาคจากเหนือจรดใต้ ส่วนใหญ่มักจะใช้เส้นทางเลี่ยงกรุงเทพมหานคร หากเป็นรถทัวร์มาจากภาคเหนือ หรือภาคอีสาน จากต่างระดับบางปะอิน จะใช้เส้นทางถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนตะวันตก) ผ่านบางบัวทอง บางใหญ่ ลงมาถึงเขตบางขุนเทียน แล้วแยกขวาถนนพระราม 2 ลงสู่ภาคใต้
จะมีบางเส้นทางที่ไปยัง จ.นครปฐม เช่น สายนครราชสีมา - หัวหิน จากถนนวงแหวนตะวันตกจะแยกขวาไปตามถนนสาย 346 ผ่านลาดหลุมแก้ว บางเลน กำแพงแสน แยกซ้ายถนนมาลัยแมน ถึงตัวเมืองนครปฐม แยกขวาถนนเพชรเกษม หรือ สายเชียงใหม่ – หัวหิน จาก จ.นครสวรรค์ จะใช้ถนนสาย 340 ผ่านชัยนาท สุพรรณบุรี แยกขวาถนนมาลัยแมน ไปทางอู่ทอง
ปัจจุบัน (ณ วันที่ 1 มกราคม 2559) รถทัวร์เส้นทางที่ยาวที่สุดในประเทศไทย คือ สาย 877 แม่สาย – ด่านนอก เริ่มต้นจาก อ.แม่สาย จ.เชียงราย ไปสิ้นสุดที่ด่านนอก อ.สะเดา จ.สงขลา ระยะทาง 1,888 กิโลเมตร ใช้เวลา 26 ชั่วโมง 30 นาที มีบริษัท ปิยะชัยพัฒนา รับสัมปทานเดินรถ ค่าโดยสารรถวีไอพี 32 ที่นั่ง 1,497 บาท และวีไอพี 24 ที่นั่ง 1,996 บาท
เมื่อเร็วๆ นี้ผมนั่งดูข่าวช่อง TNN 24 ปรากฏว่ากรมการขนส่งทางบกเปิดเส้นทางใหม่ สาย 878 แม่สอด – สวนผึ้ง จาก อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ไปยัง อ.แม่สอด จ.ตาก ระยะทาง 695 กิโลเมตร คนที่นั่นเค้าฮือฮากันมาก เพราะที่ผ่านมาเวลาจะไปแม่สอด ต้องขึ้นรถตู้ที่ อ.จอมบึง ไปลงหมอชิต แล้วต่อรถทัวร์ไปแม่สอดอีกที แต่ต่อไปนี้ไม่ต้องเสียเวลาต่อรถหลายต่ออีกแล้ว
ทราบมาว่ารถทัวร์สายแม่สอด - สวนผึ้งนี่ ได้บริษัท เพชรประเสริฐทัวร์ รับสัมปทานเดินรถ ค่าโดยสาร 562 บาท ใช้เวลาเดินทาง 12 ชั่วโมง ออกจากสวนผึ้ง 6 โมงเย็น ถึงแม่สอด 6 โมงเช้า และที่สำคัญ รถทัวร์สายนี้ผ่านมหาชัยแถวบ้านด้วย มีจุดจอดแถวนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร เหมาะสำหรับแรงงานต่างด้าวชาวพม่ามาใช้บริการอย่างยิ่ง
เรื่องของรถทัวร์ข้ามภาค อยากจะฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาอยู่สอง - สามประเด็น คือ รถทัวร์สายยาวที่ไม่เข้ากรุงเทพฯ มักจะกำหนดจุดจอดที่หน้าห้างบิ๊กคิงส์ (ร้าง) บางใหญ่ แต่ตรงจุดนั้นรถติดเป็นประจำ อยากจะเสนอให้ทำสถานีขนส่งเล็กๆ สำหรับรับ – ส่งผู้โดยสารเป็นกิจจะลักษณะ เหมือนสถานีขนส่งรังสิตบ้าง ยิ่งใกล้สถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วงยิ่งดี
ที่ผ่านมาการจราจรบนถนนกาญจนาภิเษก ช่วงบางขุนเทียนถึงบางบัวทอง มักจะติดขัดเป็นประจำในชั่วโมงเร่งด่วน ทราบมาว่า ในอนาคตกรมทางหลวงจะก่อสร้างทางยกระดับ จากบางขุนเทียน ถึงบางบัวทอง พร้อมกับปรับปรุงถนน ช่วงบางบัวทองถึงบางปะอินเป็นมอเตอร์เวย์เก็บค่าผ่านทางเหมือนบายพาสชลบุรี - พัทยา โดยมีทางบริการชุมชน
ประการต่อมา คือ อยากให้ปรับปรุงสถานีขนส่ง หรือจุดรับส่งตามเส้นทางที่รถทัวร์สายยาวผ่าน กำหนดจุดจอดเป็นกิจจะลักษณะให้สะดวก ปลอดภัย อีกประการหนึ่ง คือ ที่ผ่านมาเอกชนหรือขนส่งจังหวัดเผยแพร่ข้อมูลแบบต่างคนต่างทำ กรน่าจะรวมข้อมูลเดินรถให้ค้นหาได้โดยสะดวกแบบจุดเดียว เพื่อความสะดวกและควบคุมอัตราค่าโดยสารไปในตัว
สิ่งที่อยากจะย้ำมากที่สุดก็คือ ความปลอดภัยของรถทัวร์ ที่ผ่านมามักจะถูกสังคมมองในแง่ลบบ่อยครั้ง เช่น ขับรถเร็ว หวาดเสียว พนักงานบริการแย่ เก็บค่าโดยสารเกินราคา สภาพรถสกปรก ชำรุด ถึงที่หมายล่าช้า ฯลฯ ที่ผ่านมากรมการขนส่งทางบกก็พยายามกวดขันตลอด มีการตั้งศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารสาธารณะ 1584 และบางบริษัทพยายามให้บริการดีที่สุดก็ตาม
อยากให้มาตรฐานการให้บริการรถทัวร์ที่ดีเกิดขึ้นกับทุกเส้นทาง เพื่อเปลี่ยนความรู้สึกใหม่ของสังคมให้ยอมรับและใช้บริการกันมากขึ้น เพราะดูจากเส้นทางระยะไกลๆ มีศักยภาพทั้งนั้น อีกทั้งเห็นผลกว่าสร้างรถไฟความเร็วสูง ความเร็วปานกลาง ที่ต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมหาศาลเสียด้วยซ้ำ เพียงแต่ต้องทำยังไงเพื่อแก้ปัญหาภาพลบของรถทัวร์ให้ได้เท่านั้นเอง
ข้อมูลจาก ผู้จัดการOnline
เข้าถึงการจองตั๋วรถทัวร์ให้ง่ายขึ้นด้วยตัวคุณเอง Tickets.co.th
EmoticonEmoticon